วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555


         

ผลของการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการประกอบอาชีพบูรณาการการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในห้องเรียนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3                   
ผู้วิจัย นายจักรเพชร เทียนไชย, นางนันทวดี เทียนไชย,


                
 บทคัดย่อ
               แนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช  2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทุกฉบับ ยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดและถือว่า  ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ อย่างเต็มความสามารถ การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องจัดให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน  เน้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์แก้ปัญหา  ได้เรียนรู้จากประสบการณ์และได้ลงมือปฏิบัติจริง  เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆพร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเอง  โดยครูคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ  เป็นการฝึกให้นักเรียนแก้ปัญหา หรือข้อสงสัยโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในหลายด้านทั้ง ทักษะการคิด วิเคราะห์ การตัดสินใจและกระบวนการกลุ่ม
            การเรียนรู้นอกห้องเรียนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการประกอบอาชีพบูรณาการการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในห้องเรียนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3          มีวัตถุประสงค์เพื่อ
                1) ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น, การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
2) ผู้เรียนมีความตระหนักในตนเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น , รู้จักหวงแหนทรัพยากร ใน ท้องถิ่นของตน และแนะนำผู้อื่นได้
         3)  สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
            ประชากรที่ใช้ในการศึกษา เลือกโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจงจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ปีการศึกษา  2555 ของโรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน  21 คน         
                เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา  ประกอบด้วย
                  1) แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาระสิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต  หน่วยการเรียนรู้เรื่องการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  
                2) แผนการจัดการเรียนรู้  กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีสาระที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3   
               3) แบบประเมินผลงานนักเรียน
                4) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
             วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการการประเมินผลงานนักเรียน โดยใช้ ระดับคุณภาพ และค่าเฉลี่ย (mean)    สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็น นำไปวิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย (mean)  และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation)
                ผลการวิจัยพบว่า
         1) ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น, การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น อยู่ในระดับดี มีค่าเฉลี่ย  73.5
           2) ผู้เรียนมีความตระหนักในตนเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น , รู้จักหวงแหนทรัพยากร ใน ท้องถิ่นของตน และแนะนำผู้อื่นได้ โดยมีผลงานที่สะท้อนความตระหนักของนักเรียนในรูปแบบของ รายงานการสืบค้นข้อมูล หนังสืออิเลคทรอนิกส์ และ วิดิทัศน์ เกี่ยวกับอาชีพในท้องถิ่นที่ตนเองสนใจ
         3) ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก