วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บริหารงบประมาณ

ประสิทธิผลการบริหารงบประมาณตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา
ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม
ผู้วิจัย นายจักรเพชร เทียนไชย
สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ ดร.นิมิตร มั่งมีทรัพย์ อาจารย์ ดร.นิพนธ์ วรรณเวช
ปีการศึกษา 2552

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลการปฏิบัติในการบริหารงบประมาณ ตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาของสถานศึกษา และเปรียบเทียบประสิทธิผลการปฏิบัติในการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงครามตามลักษณะการจัดการศึกษา
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม จำนวน 70 โรงเรียน มีผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้างานการบริหารงบประมาณ และประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างรวมสถานศึกษาละ 3 คน รวมจำนวน 210 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ(Stratified Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามระดับการปฏิบัติในการบริหารด้านงบประมาณตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา สถิติที่ใช้ ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบระดับการปฏิบัติด้วยการวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนแบบทางเดียว(One -Way ANOVA) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการวิจัย พบว่า
1) ประสิทธิผลการปฎิบัติในการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 7 ด้าน(7Hurdles) ส่วนใหญ่มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกด้าน
2) สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดการศึกษาต่างลักษณะกันมีประสิทธิผลในการบริหารงบประมาณทั้ง 7 ด้านไม่แตกต่างกัน




ABSTRACT
The purpose of this research were to study the effectiveness of budgeting management owing to educational administration decentralization to schools, and aimed to compare the level of the effectiveness of budgeting management of schools under the Office of Samuth Songkram Educational Service Area according to different categories: category one (Prathomsueksa 1-3), category two (Prathomsueksa 4-6), category three (Matayomsueksa 1-3), and category four (Matayomsueksa 4-6).
The samples used in this research were 210 in the study were selected from 70 schools; three of the samples (a school administrator, a head of budgeting and a chairman from the Commission of Basic Education working at the school) represented each school.
A questionnaire and a structured interview were employed to collect the data about the level of budgeting management according to the decentralized educational management. The data obtained from these instruments was analyzed using SPSS (the Statistical Package for Social Sciences for Windows) to find percentage, means ( ), standard deviations (S), and using One-Way ANOVA in analyzing the data.
The research findings were as follows:
1. The level of the effectiveness of budgeting management about seven hurdles of basic education schools was, on average, high.
2. The effectiveness of budgeting management about the seven hurdles of basic education schools classified by different education categories was not significantly different.










ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

เจตนารมณ์ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีความสามารถ และมีความสุข อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มีการจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาของไทยให้มีเอกภาพเชิงนโยบาย และมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง (ประยูร ศรีประสาธน์. 2543 : 41-53)
การบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานของการบริหาร ดังที่ เบเกอร์และนูเฮาเซอร์ (Beker and Nuhauser. 1975 : 94; ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์. 2542 : 2) ได้อธิบาย ไว้ว่าปัจจัยพื้นฐานของการบริหารที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีอยู่ 4 ประการ คือ การบริหารงานบุคคล การบริหารการเงิน การบริหารพัสดุ และการจัดการที่ดี หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการบริหารอันสำคัญ คือ คน เงิน วิธีการจัดการและวัสดุสิ่งของ แม้คนจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการก็ตาม ทว่างบประมาณหรือเงินก็เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในการเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่จะอำนวยความสะดวกให้คนสามารถที่จะบริหารจัดการองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จในการกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
การกระจายอำนาจให้การบริหารจัดการในสถานศึกษามีความคล่องตัวมีอิสระในการบริหารจัดการอยู่บนฐานของหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management : SBM) เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐานและสามารถปรับปรุงการบริหารจัดการให้อย่างต่อเนื่อง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำนโยบายของกระทรวงมากำหนด กลยุทธ์กระจายอำนาจและส่งเสริมความเข็มแข็งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษามีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโดยทำการจัดระบบการกระจายอำนาจและระบบเครือข่ายเพิ่มประสิทธิภาพและความพร้อมของสถานศึกษาในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา ด้านงบประมาณให้กับสถานศึกษามีหลักการแนวคิด สำคัญคือ (1) ยึดหลักความเท่าเทียมกันและความเสมอภาคทางโอกาสทางการศึกษาของผู้เรียนในการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน ทั้ง 7 ด้าน เพื่อรองรับการบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน เกี่ยวกับ การวางแผนงบประมาณ การคำนวณต้นทุนผลผลิต การจัดระบบการจัดหาพัสดุ การบริหารทางการเงินและการควบคุมงบประมาณการรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน การบริหารสินทรัพย์ การตรวจสอบภายใน (3) ยึดหลักการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณ โดยจัดสรรงบประมาณให้เป็นลักษณะของวงเงินรวมแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาซึ่งอยู่ในระยะของการพัฒนา (4) มุ่งเน้นการเสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการจัดการงบประมาณของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจมีความคล่องตัว ควบคู่กับความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้จากผลสำเร็จของงานและทรัพยากรที่ใช้ไป(กระทรวงศึกษาธิการ. 2550 : 52)แต่การบริหารงบประมาณของสถานศึกษาหลังการกระจายอำนาจยังประสบปัญหาหลายปัญหา เช่น ทักษะในการวางแผนงบประมาณ ความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์ และประสบการณ์ในการวางแผนงบประมาณ (จันทร์เพ็ญ สวัสดิวงศ์. 2545 : 67; ปรีชา ศรีนวล. 2548 : 111) ถ้าไม่ดำเนินการหา แนวทางแก้ไข จะมีผลกระทบต่อการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติประจำปีของสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม โดยไม่เป็นไปตามนโยบายการกระจายอำนาจ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิผล ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนได้อย่างเหมาะสมที่สุด

ผู้วิจัยในฐานะบุคลากรทางการศึกษาจึงเห็นความสำคัญและสนใจศึกษาประสิทธิผลของการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ใช้มาตรฐานการจัดการทางการเงิน ทั้ง 7 ด้านและหลักเกณฑ์วิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ. 2550 ด้านงบประมาณ 22 ประการ ทั้งนี้เพราะการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานด้านงบประมาณจะเป็นเครื่องมือการส่งเสริมภารกิจสถานศึกษาให้มีอิสระความคล่องตัว รวดเร็ว สามารถบริหารการจัดการศึกษาได้สะดวกและช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

วัตถุประสงค์การวิจัย
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อศึกษาประสิทธิผลการปฏิบัติในการบริหารงบประมาณตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม
2. เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการปฏิบัติในการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาตามลักษณะการจัดการศึกษา
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)
ประชากรที่ศึกษา คือ สถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2552 จำนวน 85 แห่ง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นสถานศึกษาโดยเปิดตารางของเครจซี่และ มอร์แกน (Krejcie & Morgan) จำนวน 70 แห่ง ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling)โดยใช้ระดับช่วงชั้นของสถานศึกษาเป็นชั้นภูมิ ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้างานการบริหารงบประมาณ และประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจากสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสถานศึกษาละ 3 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 210 คน
ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ ประสิทธิผลการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา ประกอบด้วย 7 ด้าน(7Hurdles) คือ 1). ด้านการวางแผนงบประมาณ2).ด้านการคำนวณต้นทุนกิจกรรมผลผลิต3).ด้านการจัดระบบการจัดหาพัสดุ4).ด้านการบริหารทางการเงินและการควบคุมงบประมาณ5).ด้านการรายงานทางการเงินและผลการดำเนินงาน
6).ด้านการบริหารสินทรัพย์ 7). ด้านการตรวจสอบภายใน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมีเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งเป็นแบบสอบถามแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) และแบบสอบถามระดับการปฏิบัติในการบริหารงานด้านงบประมาณตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม ทั้ง 7 ด้าน (7 Hurdles)เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า5 ระดับ จำนวน 55 ข้อ แบบสอบถามดังกล่าว ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา(Content Validity) และการคำนวณหาความเชื่อมั่น(Reliability) ตามวิธีของครอนบาค(Cronbach) โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า(α Coefficient) ได้ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.953
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล แบบสอบถามตอนที่ 1 ใช้ค่าร้อยละ(Percentage) แบบสอบถาม ตอนที่ 2 โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย(Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One-Way ANOVA)




สรุปผลการวิจัย
1. ระดับการปฏิบัติในการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาทั้ง 7 ด้าน พบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่มีประสิทธิผลการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกด้านโดยด้านการบริหารทางการเงินและการควบคุมงบประมาณ มีประสิทธิผลการปฏิบัติอยู่ในลำดับสูงสุด รองลงมาคือ การจัดระบบการจัดหาพัสดุ การรายงานทางการเงินและผลการดำเนินการ การตรวจสอบภายใน การวางแผนงบประมาณ การบริหารสินทรัพย์ ตามลำดับ ส่วนการคำนวณต้นทุนกิจกรรมและผลผลิต มีประสิทธิผลการปฏิบัติอยู่ในลำดับต่ำสุด
2. การบริหารงบประมาณตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 ด้าน (7 Hurdles) จำแนกตามลักษณะการจัดการศึกษาของสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษาทุกประเภทมีประสิทธิผลการปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 ด้าน(7 Hurdles) อยู่ในระดับมาก โดย สถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาช่วงชั้นที่ 1,2 และ 3 มีระดับปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 ด้าน สูงสุด รองลงมาคือสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษา ช่วงชั้นที่ 1-2 และสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาช่วงชั้นที่ 3-4 ตามลำดับ สถานศึกษาที่จัดการศึกษาช่วงชั้น ที่ 1-2 และ3 มีประสิทธิผลการปฏิบัติ การบริหาร งบประมาณด้านการตรวจสอบภายใน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในลำดับสูงสุด รองลงมาคือ การบริหารทางการเงินและ การควบคุมงบประมาณ ส่วนการคำนวณต้นทุนกิจกรรมและผลผลิต ประสิทธิผลปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยอยู่ในลำดับต่ำสุด สถานศึกษาที่จัดการศึกษาช่วงชั้นที่ 1 และ 2 มีประสิทธิผลการปฏิบัติ การบริหาร งบประมาณด้านการบริหารทางการเงินและการควบคุมงบประมาณ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในลำดับสูงสุด รองลงมาคือการจัดระบบการจัดหาพัสดุ ส่วนการคำนวณต้นทุนกิจกรรมและผลผลิต ประสิทธิผลการปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยอยู่ในลำดับต่ำสุด สถานศึกษาที่จัดการศึกษาช่วงชั้นที่ 3 และ4 มีประสิทธิผลการปฏิบัติการบริหารงบประมาณ ด้านการจัดระบบการจัดหาพัสดุมีค่าเฉลี่ยอยู่ในลำดับสูงสุด รองลงมาคือการรายงานทางการเงินและผลการดำเนินการ ส่วนการบริหารสินทรัพย์มีประสิทธิผลการปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยอยู่ในลำดับต่ำสุด
3. การเปรียบเทียบประสิทธิผลการปฏิบัติการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาจำแนกรายด้านทั้ง 7 ด้านและจำแนกตามลักษณะการจัดการศึกษาของสถานศึกษาพบว่า ทุกด้านไม่แตกต่างกัน





ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรมีการกำหนดนโยบายและหามาตรการเสริมเพิ่มเติมด้านการควบคุมต้นทุนกิจกรรมและผลผลิตโดยจัดทำคู่มือปฏิบัติการและหรือการฝึกอบรมให้ความรู้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
1.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการกำหนดมาตรการในการนิเทศกำกับติดตามผลการปฏิบัติด้านการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ
1.3 สถานศึกษาควรมีการกำหนดแนวทางการเพิ่มประสิทธิผลการบริหารงบประมาณ ด้านการควบคุมต้นทุนกิจกรรมและผลผลิตโดยให้ผู้มีความรู้มาให้คำแนะนำผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติ
2.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการมอบหมายให้บุคลากรจากสำนักงานออกให้คำแนะนำช่วยเหลือสถานศึกษาที่ขาดความชำนาญด้านงบประมาณ
2.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการกำกับดูแลสถานศึกษาทุกลักษณะการจัดการศึกษา ทั้งที่เป็นสถานศึกษาประเภทที่ 1 สถานศึกษาประเภทที่ 2 เพื่อเพิ่มระดับประสิทธิผลในการบริหารงบประมาณให้ใกล้เคียงกัน
2.3 สถานศึกษาควรส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานด้านงบประมาณไปรับความรู้มา และถ่ายทอดให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรับรู้รับทราบ สร้างความชำนาญและเกิดประสิทธิผลมากกว่าเดิม
3. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
3.1 ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารงบประมาณตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในเชิงปริมาณและ เชิงคุณภาพ
3.2 ควรมีการศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิผลในระดับมาก
3.3 ควรมีการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานหรือคณะกรรมการสถานศึกษา ในการบริหารงบประมาณตามแนวทางการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน





บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). คู่มือการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคล.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
---------. (ม.ป.ป.). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : บริษัทพริกหวาน
กราฟฟิค จำกัด.
---------. (2546). พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. 2546.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
---------. (2550). แนวทางการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาให้คณะกรรมการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ กระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
กรมวิชาการ. (2545). การวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
จุฑามาศ พุ่มสวัสด์. (2547). ความคิดเห็นของผู้บริหารที่มีต่อการบริหารการเงินในสถานศึกษา
สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดเพชรบุรี. สารนิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต
(การบริหารการศึกษา). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ. อัดสำเนา .
จันทร์เพ็ญ สวัสดิวงศ์. (2545). ความพร้อมในการบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานของ
ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอดอนตูม
จังหวัดนครปฐม. สารนิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการบริหาร
การศึกษา). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. อัดสำเนา.
ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์. (2542). การจัดการทรัพยากรบุคคล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประยูร ศรีประสาธน์. (2543, มกราคม – เมษายน). การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา.
สุโขทัยธรรมาธิราช. 13(1) : 41 – 53.
ปรีชา ศรีนวล. (2548). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารงบประมาณของสถานศึกษา
สารนิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการบริหารการศึกษา). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อัดสำเนา.


http://financial.obec.go.th/work/2_6-8-47.doc. (2551). ปัญหาที่พบจากการตรวจสอบของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน “ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน”. (online)
www.sskedarea.net/data/decentralization. (2551). “สำนักติดตามและประเมินผลการจัด การศึกษาขั้นพื้นฐาน”. (online)
http://skm.sskedarea.net/ (2552). ข้อมูลพื้นฐานการศึกษา ปีการศึกษา 2552 “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม”. (online)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

I think the admin of this website is really working
hard in favor of his site, because here every stuff is quality based material.


Here is my page priory.mrooms.net