วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การบริหารการศึกษา

สภาพการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้ในการบริหารจัดการในสถานศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม
ผู้วิจัย นางนันทวดี เทียนไชย
สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ ดร.ถาวร เส้งเอียด อาจารย์ ดร.นิมิตร มั่งมีทรัพย์
ปีการศึกษา 2552

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการนำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) มาใช้การบริหารจัดการในสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐานใน 4 ด้าน คือ การใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพ การเรียน การใช้เพื่อการบริหารและบริการทางการศึกษา การใช้เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากร และ การกระจายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการศึกษา 2) เพื่อเปรียบเทียบสภาพการนำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา มาใช้ในการบริหารจัดการระหว่างสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐานในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยจำแนกตามขนาด และ สังกัด
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่สถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 80 แห่ง เป็นสถานศึกษาของรัฐบาล จำนวน 70 แห่ง และ สถานศึกษาของเอกชนจำนวน 10 แห่ง ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้างานวิชาการหรือหัวหน้างานบริหารทั่วไป ครูผู้สอนหรือครูผู้รับผิดชอบห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ในสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสถานศึกษาละ 3 คน รวมทั้งสิ้น 240 คนที่ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถาม เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One way ANOVA) และการทดสอบค่าที (t – test )วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการวิจัยพบว่า
1. การนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา มาใช้ในการบริหารจัดการในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดสมุทรสงครามมีสภาพการดำเนินงานทั้งในภาพรวมและจำแนกตามยุทธศาสตร์อยู่ในระดับมาก
2. สถานศึกษาที่มีขนาดต่างกันมีสภาพการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้ในการบริหารจัดการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01
3. สถานศึกษาที่มีสังกัดต่างกันมีสภาพการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้ในการบริหารจัดการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01

ABSTRACT
The purpose of the thesis were 1.) to study the state of employing strategies of information and communication technology (ICT) in administering basic education school in four aspects: development of an instruction, educational administration, development of educational personnel, and ICT-administration decentralization for education in schools and 2.) to compare the levels of the use of information and communication technology in administering schools classified by school sizes and by the department in which schools are supervised.
240 samples used in the study were selected, using ‘Stratified Sampling’ technique, from 70 public schools and 10 private schools. Three of the samples: a school administrator, a head of the academic affairs (or a head of the general administration), and a teacher (or a technician of the computer laboratory) represented each school.
A 5-rating scale questionnaire and a structured interview were used for the data collection. The data obtained from these tools was analyzed using SPSS ( the Statistical Package for Social Sciences for Windows) to find percentage, means ( ) , standard deviations(SD.), and using one way ANOVA in analyzing the data. And also t-test was employed to find significant differences in the dependent sampled.
The results revealed that:
1. On average, the level of the use of information and communication technology in administering the basic educational schools in Samuth Songkram was hing.
2. To compare the state of employing ICT in administering schools of different schools sizes, the level of ICT employment was significantly different at 0.01 level.
3. The level of ICT employment in administering schools of different departments in which schools are supervised was different at the significant level of 0.01.
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและ การติดต่อสื่อสารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วจนเป็นโลกไร้พรมแดน มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงกันกระทำกิจกรรมร่วมกันโดยผ่านเครือข่ายทางเทคโนโลยี ในเวลาเดียวกันการนำวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาใช้งานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในแวดวงการศึกษา มีความคิดริเริ่มจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและเน้นคุณภาพชีวิตของคน มีการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพการศึกษา ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญและ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและมีการพัฒนาด้านการใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง (วีระเดช เชื้อนาม. 2542 : 2 )
ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลสมัยต่างๆได้ให้ความสำคัญกับการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศมาโดยตลอด มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาประเทศในช่วง 10 ปี(ภาวิไล นาควงษ์. 2547 : 137) มีการกำหนดเป็นนโยบายและเร่งพัฒนาบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับให้มีเพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เอื้อประโยชน์ ต่อการบริหารจัดการและการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสำหรับ การบริหารและการจัดการสมัยใหม่ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ต้นทุนต่ำสามารถพัฒนาและขยายได้ อย่างยั่งยืน พัฒนาระบบเทคโนโลยี ทางการศึกษาและเครือข่ายสารสนเทศเพื่อเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้คนไทยทั้งในเมืองและชนบท (ชูวิทย์ เข่งคุ้ม. 2546 : 5)
ในปัจจุบันรัฐบาลได้ กำหนดให้มีการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศและสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนและองค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างทั่วถึงมีการพัฒนาระบบ การสื่อสารที่ทันสมัยรองรับความต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาการให้บริการในด้านการจัดการศึกษา บริการภาครัฐ บริการสาธารณสุข และโลจิสติกส์ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ มีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาค มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบเครือข่ายการพัฒนาสื่อเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและผู้เรียน (สำนักงานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์. 2551) และ ด้านการศึกษามีการกำหนดเป็น แผนแม่บทและ ยุทธศาสตร์เป็นแนวนโยบายเพื่อการดำเนิน การพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ และทักษะสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ (อธิปัตย์ คลี่สุนทร. ออนไลน์ : 2551) โดยกำหนดบทบาทและภารกิจในการจัด ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม นำความรู้ มีคุณภาพ มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน และการเรียนรู้อย่างจริงจัง รวมทั้งการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างกว้างขวางและการนำคอมพิวเตอร์มาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนครู (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. 2551 : 9)
ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมาย กรอบการดำเนินงานและยุทธศาสตร์การดำเนินงานให้ชัดเจน (สำนักนายกรัฐมนตรี. 2545 : 96) ส่งผลให้ มีการตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาฝึกอบรม และพัฒนาหลักสูตร และการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีโดยตรง (วีระเดช เชื้อนาม. 2542 : 3 ) เช่น สำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้( สทร. ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้โดยตรงมีความเข้าใจความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสามารถในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายร่วมกัน มีความสามารถในการสร้างสรรค์และคิดค้นวิธีใช้เทคโนโลยีในสถานการณ์ที่ท้าทายใหม่ ๆอีกทั้งมีความตระหนักในความเกี่ยวเนื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศกับอาชีพ และปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในอาชีพนั้น ๆ
แต่อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานในการนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาดังกล่าวที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการพบว่าการนำนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการบริหารจัดการศึกษาและการเรียนการสอนไปปฏิบัติยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหา และอุปสรรคหลายประการทั้งในส่วนที่ใช้ในการบริหารจัดการ และในการจัดการเรียนการสอน (จิตติมา ฤทธิ์เลิศ. 2549 : 3) และจากข้อมูลรายงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติพบว่าสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมที่มีศักยภาพสูง แต่ การใช้ดาวเทียมเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยังใช้ไม่คุ้มค่า (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ . 2545 : 45)
โรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามก็เช่นกัน มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงเรียนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ยังมีปัญหาที่ส่งผลต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน ทั้งปัญหาเกี่ยวกับด้านปัจจัยนำเข้าต่าง ๆ และ ด้านการบริหารจัดการ การขาดแคลนบุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ งบประมาณในการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนและการซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ เนื้อหาหลักสูตร ยังไม่ทันต่อความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคปัจจุบัน
ผู้วิจัยในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวนโยบาย และยุทธศาสตร์ดังกล่าว เห็นว่าการจะนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิด ประโยชน์ ต่อระบบการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนอย่างแท้จริงจำเป็นต้อง เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ กับสภาพการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนก่อน เพื่อกำหนดแนวทาง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงสนใจที่จะศึกษาสภาพการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้ในการบริหารจัดการในสถานศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม โดยนำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 4 ด้านคือการใช้ ICTเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียน การใช้ ICT เพื่อการบริหาร และบริการทางการศึกษา การใช้ ICT เพื่อผลิตและพัฒนา บุคลากร และ การกระจายโครงสร้าง พื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา เป็นขอบข่ายเนื้อหาในการศึกษาเพื่อให้ได้ ข้อมูลและแนวทางในการพัฒนาการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศตามยุทธศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อไป

วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อศึกษาระดับปฏิบัติของสถานศึกษาในการนำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการของสถานศึกษาใน 4 ด้าน คือ การใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพ การเรียน การใช้ ICTเพื่อการบริหารและบริการทางการศึกษา การใช้ ICTเพื่อผลิตและพัฒนา บุคลากร และ การกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา
2. เพื่อเปรียบเทียบระดับการปฏิบัติของสถานศึกษาในการนำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา มาใช้ในการบริหารจัดการของสถานศึกษาจำแนกตามขนาดและสังกัด ของสถานศึกษา

วิธีดำเนินการวิจัย
รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ( Survey Research)
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ สถานศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวง ศึกษาธิการใน พื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2552 โดยผู้ให้ข้อมูลได้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้างานวิชาการหรืองานบริหารทั่วไปครูผู้สอนหรือผู้รับผิดชอบห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จากสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสถานศึกษาละ 3 คน รวมจำนวนทั้งหมด 240 คน
ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่
สภาพการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ มาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา 4 ด้าน ประกอบด้วย
2.1 การใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียน
2.2 การใช้ ICT เพื่อการบริหารและบริการทางการศึกษา
2.3 การใช้ ICT เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากร
2.4 การกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา
เครื่องมือในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามการนำ ยุทธศาสตร์ด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ มาใช้ในการบริหารจัดการในสถานศึกษา แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่
ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามแบบตรวจสอบรายการ (checklist) สอบถาม ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ในสถานศึกษา
ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา เกี่ยวกับการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการของสถานศึกษา 4 ด้าน คือ 1) การใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียน 2) การใช้ ICT เพื่อ การบริหารและบริการทางการศึกษา 3) การใช้ ICT เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากร 4) การกระจาย โครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ของ ไลเคิร์ท (Likert’s rating scale อ้างถึงใน กรมวิชาการ, 2545 : 61) แทนค่าระดับการปฏิบัติตั้งแต่ มีการปฏิบัติมากที่สุด มีการปฏิบัติมาก มีการปฏิบัติปานกลาง มีการปฏิบัติน้อย มีการปฏิบัติน้อยที่สุด และคำถามปลายเปิดเพื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อมูล ประกอบการ อภิปรายผล

การวิเคราะห์ข้อมูล
แบบสอบถามตอนที่1 วิเคราะห์ค่าสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ด้วยการหา ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean)
แบบสอบถามตอนที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลค่าสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ด้วยการหา ค่าเฉลี่ย (Mean)และ ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของสภาพการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการมาใช้ในการบริหารจัดการของสถานศึกษาจำแนกตามขนาดของสถานศึกษาใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One way ANOVA)ในการทดสอบสมมติฐานใช้ F-test เมื่อพบความแตกต่างได้ทำการตรวจสอบ ค่าเฉลี่ยรายคู่ โดยใช้เทคนิคของเชฟเฟ่ (Scheffe’) และการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสังกัด ทดสอบสมมติฐานโดยใช้ ค่า t-test
ผลการวิจัย
1. สภาพการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการในสถานศึกษาในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดย ยุทธศาสตร์การใช้ ICT เพื่อการบริหารและบริการทางการศึกษา มีระดับการปฏิบัติอยู่ในลำดับสูงที่สุด รองลงมา คือ ยุทธศาสตร์ การกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียน ตามลำดับและ ยุทธศาสตร์ การใช้ ICT เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรมีระดับการปฏิบัติอยู่ในลำดับ ต่ำที่สุด เมื่อพิจารณารายยุทธศาสตร์พบว่า
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียน มีการปฏิบัติในระดับมาก โดยสถานศึกษามีการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามระดับชั้นมีระดับการปฏิบัติอยู่ลำดับสูงที่สุด แต่การเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ( e-Learning) มีระดับการปฏิบัติอยู่ลำดับต่ำที่สุด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การใช้ ICT เพื่อการบริหารและบริการทางการศึกษา มีการปฏิบัติในระดับมาก สถานศึกษามีการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานต้นสังกัดผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีระดับการปฏิบัติอยู่ลำดับสูงที่สุด แต่ การจัดทำรายงานและนำเสนอผลการดำเนินงานการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการด้านการศึกษาและการบริหารสถานศึกษาให้ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ มีระดับการปฏิบัติอยู่ลำดับต่ำที่สุด
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การใช้ ICT เพื่อผลิต และ พัฒนาบุคลากรมีการปฏิบัติในระดับมาก โดยสถานศึกษามีการวางแผนการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนนำเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม มีระดับการปฏิบัติอยู่ลำดับ
สูงที่สุด แต่การจัดให้ครูผู้สอนไปทัศนศึกษาดูงานสถานศึกษาที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม มีระดับการปฏิบัติอยู่ลำดับต่ำที่สุด
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษามีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดย สถานศึกษามีการวางแผนจัดทำระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในสถานศึกษา มีระดับปฏิบัติอยู่ในลำดับสูงที่สุด แต่สถานศึกษามีการนำผลการวิเคราะห์มาปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของสถานศึกษาอย่างเหมาะสมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในลำดับต่ำที่สุด
2. ผลการเปรียบเทียบระดับการปฏิบัติของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดสมุทรสงคราม จำแนกตามขนาดและสังกัดของสถานศึกษา
2.1 สถานศึกษาที่มีขนาดต่างกันมีสภาพการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ . 01 โดยสถานศึกษาขนาดใหญ่ มีระดับปฏิบัติในการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการมากที่สุด รองลงมาคือ สถานศึกษาขนาดกลาง และสถานศึกษาขนาดเล็กตามลำดับ เมื่อพิจารณาผลเปรียบเทียบโดยการทดสอบรายคู่พบว่าสถานศึกษาขนาดเล็กกับสถานศึกษาขนาดใหญ่ และสถานศึกษาขนาดกลาง กับสถานศึกษาขนาดใหญ่ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 ส่วนสถานศึกษาขนาดเล็กกับสถานศึกษาขนาดกลางไม่แตกต่างกัน
2.2 สถานศึกษาที่มีสังกัดต่างกันมีระดับปฏิบัติในการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 โดยสถานศึกษาที่สังกัดรัฐบาลมีระดับปฏิบัติในการนำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษามาใช้ในการบริหารจัดการ มากกว่าสถานศึกษาสังกัดเอกชน

ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนายุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาทั้ง 4 ด้านให้ชัดเจนเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการบริหารและการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับ เป้าหมายและนโยบายที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้สอดรับกับแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการและของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้กับสถานศึกษาในสังกัด
1.3 สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ละแห่งควรมีการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาในลักษณะการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและองค์กรต่าง ๆให้รองรับกับนโยบายและยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวง ศึกษาธิการ และของหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อสามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
1.4 สถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน แต่ละแห่งทั้งที่เป็นของรัฐบาล และเอกชน ควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา และส่งเสริม ให้ครูผู้สอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยบูรณาการ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
1.5 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการพัฒนาสถานศึกษาที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ ให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการใช้ทรัพยากรร่วมกันในระหว่างสถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง
1.6 ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีการสำรวจความต้องการและความพร้อมของสถานศึกษา วิสัยทัศน์ในการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ของผู้บริหารในสถานศึกษาและ ความรู้ความสามารถของบุคลากรในสถานศึกษา ว่ามีพร้อมแค่ไหน อีกทั้งควรกระจายไปอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไม่สูญเปล่า
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของสถานศึกษาแต่ละแห่ง
2.2 ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ กรณีศึกษาสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนในฝันหรือ โรงเรียนยกระดับคุณภาพ ที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ในการ บริหารการจัดการภายในสถานศึกษา
2.3 ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในสถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับความต้อ



บรรณานุกรม

กรมวิชาการ. (2544). รายงานสรุปผลวิจัย เรื่อง สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษาเพื่อ
พัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ.
_______. (2547). แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของ
กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2547-2549. อัดสำเนา.
_______. (2550). แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกระทรวงศึกษาธิการ
ปี 2550-2554. อัดสำเนา.
จิตติมา ฤทธิ์เลิศ. (2549). การบริหารงานตามนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริหารโรงเรียน
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2. ปริญญนิพนธ์รัฐศาสนศาสตร
มหาบัณฑิต. (สาขาวิชา นโยบายสาธารณะ). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ. อัดสำเนา.
ชูวิทย์ เข่งคุ้ม. (2546). สภาพและปัญหาการใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารงาน โรงเรียนมัธยมศึกษา
จังหวัดเพชรบุรี. สารนิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต. (สาขาวิชาการบริหาร
การศึกษา). นครปฐม : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิยาลัยศิลปากร. อัดสำเนา.
ภาวิไล นาควงษ์. (2547). การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ใน
ระดับอุดมศึกษาในประเทศในปัจจุบัน. วารสารรามคำแหง. 22(4) : 135-137.
วีรเดช เชื้อนาม. (2542). การพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับนักเรียนชั้น
ประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต. (สาขาวิชาหลักสูตร
และการสอน). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อัดสำเนา.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2551). นโยบาย สพฐ. ปี 2551. อัดสำเนา.
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2551, มีนาคม) . นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ.
วารสารเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู “วิทยาจารย์” ปีที่ 107(5) : 9
http://www.eppo.go.th/doc/Gov-Policy/index-t.html (2552.)นโยบายรัฐบาล [Online]
http://skm.sskedarea.net/ (2552). ข้อมูลพื้นฐานการศึกษา ปีการศึกษา 2552 [Online]
http://www.egoverment.or.th. (2551).โครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์[Onlime]
http://www.moe.go.th. (2551). อธิปัตย์ คลี่สุนทร. แผนหลักใช้ ICT เพื่อพัฒนาการศึกษา: ความฝัน
ที่ไปถึงได้ [Online]

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณเก่งมากข...ขอบคุณครับ