วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิจัยในชั้นเรียนเรื่องแหล่งน้ำ

Using a Local Water Problem as Case-based Scenario to Encourage Thai Grade 8 Students’ Learning of Science
Chakpet Tianchai1, Nantawadee Tianchai1, Jongdee To-im2, Watcharee Ketpichainarong3*,
Piyachat Jittam3, Namkang Sriwattanarothai3, Pintip Ruenwongsa3
1 Ban Klongsomboon School, Phragnamdang, Amphawa, Samut Songkhram, Thailand
2 Faculty of Environment, Mahidol University, Thailand
3Institute for Innovative learning, Mahidol University, Thailand
* Address correspondence to: aui216@ hotmail.com

Abstract
Thai educational policy requires that teacher integrate local knowledge and resources with lessons to help students learn science with more relevance to their life. The study reported here encouraged students to learn about water resource by using a case scenario on local water problems. After each group of students studied the case, students were ask to search for more information on local water resources, water quality, and comparative quality of water. A local sage was invited to give a talk to the students who later used the knowledge gained to discuss the way to solve the case problems. Students reported their ideas to friends as well as constructed their own webblog to present what they had learned. Students’ presentation, report, webblog, concept map, pre-post test, and observation were used to assess their achievements from this lesson. The average score was 75.53 from 100 points indicating that most students achieved the objectives of the lesson. They could build knowledge from the case, search for information on their own, and discuss with friends as well as present the understanding via the webblog. Some problems still need to be solved such as allowing for more time and providing computer each for the student who did not own one.







บทความวิจัย เรื่องการใช้สถานการณ์กรณีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำในพื้นที่ของโรงเรียนเพื่อ
ช่วยในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นายจักรเพชร เทียนไชย, นางนันทวดี เทียนไชย,


บทคัดย่อ

นโยบายการจัดการศึกษาของชาติกำหนดให้ครูบูรณาการความรู้และทรัพยากรในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในบทเรียนเพื่อจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้ดีขึ้น
รายงานการศึกษานี้เป็น การใช้สถานการณ์จริงที่เป็นกรณีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำ ในท้องถิ่นตำบลแพรกหนามแดง มาช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งน้ำและทรัพยากรน้ำ โดยการให้นักเรียนศึกษากรณีตัวอย่างจากวิดิทัศน์หลังจากการศึกษาแล้ว
ให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม อภิปรายร่วมกันและสืบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ แหล่งน้ำ ทรัพยากรน้ำ ใน พื้นที่ จาก ผู้รู้และชาวบ้าน ศึกษาและลงมือปฏิบัติในการตรวจสอบคุณภาพ และ เปรียบเทียบ คุณภาพน้ำ โดยเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นมาให้ความรู้พูดคุยกับนักเรียน และ ให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้ศึกษา มาอภิปรายถึงประเด็นปัญหา วิธีการแก้ปัญหาในกรณีตัวอย่าง จากนั้นให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมนำมาสรุปความคิดเห็นของนักเรียน และนำมาสร้าง เป็น webblog ของ ตนเอง เพื่อรายงานนำเสนอสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้และเป็นสื่อการเรียนรู้ให้เพื่อนร่วมชั้นเรียน. การนำเสนอข้อมูลของนักเรียนใช้วิธีการรายงานประกอบการนำเสนอด้วยโปรแกรม คอมพิวเตอร์(Microsoft power point), webblog, และแผนผังความคิด, วัดผลประเมินผลโดย ทดสอบก่อนเรียน - หลังเรียน และ การสังเกตพฤติกรรม ผลการจัดกิจกรรมพบว่านักเรียน ส่วนใหญ่บรรลุวัตถุประสงค์ของบทเรียนโดยมีผลการเรียนเฉลี่ยในหน่วยการเรียนทั้งหมดคิดเป็น ร้อยละ 75.53 และนักเรียนสามารถสร้าง องค์ความรู้ จากการค้นหาข้อมูลของตนเองและอภิปรายร่วมกันกับ เพื่อน ๆ รวมทั้งการนำเสนอความรู้ความเข้าใจผ่าน webblog. ปัญหาและแนวทางการแก้ไข เวลาในการจัดกิจกรรมน้อยควรให้เวลาในการสร้างงานนำเสนอให้มากขึ้นและควรจัดเครื่อง คอมพิวเตอร์ ให้เพียงพอสำหรับการทำงานของนักเรียน



บทนำ

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามแนวทางการปฎิรูปการศึกษาและแนวการจัดการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2545 ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ อย่างเต็มความสามารถ การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องจัดให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์แก้ปัญหา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์และได้ลงมือปฏิบัติจริง เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สถานศึกษาจะต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรม ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ โดยครูผู้สอนมีการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจและได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นการค้นพบความรู้ด้วยตนเอง โดยครูคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นการฝึกให้นักเรียนแก้ปัญหา หรือข้อสงสัยโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในหลายด้านทั้ง ทักษะการคิด วิเคราะห์ การตัดสินใจและกระบวนการกลุ่ม
โรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม ได้มีการจัดการเรียนการสอนตามนโยบายและแนวทางการปฎิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ก็เป็นสาระการเรียนรู้หนึ่งในหลักสูตรสถานศึกษาที่โรงเรียนได้จัดทำขึ้นโดยมุ่งพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ การตัดสินใจเน้นกระบวนการกลุ่มและการแก้ปัญหา มีการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิด ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และ
นำความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลก สามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อม หน่วยการเรียนรู้เรื่องแหล่งน้ำ ของผู้รายงานนั้น เนื่องจากจังหวัดสมุทรสงครามเป็น จังหวัดที่อยู่ติดกับอ่าวไทย และมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านอีกทั้งมีลำคลอง356 คลอง ได้ชื่อว่ามีแหล่งน้ำ บนดินที่เป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่น่าสนใจ และควรศึกษาอย่างยิ่ง จนได้ชื่อ เป็นเมือง สามน้ำ คือ มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งทำ ประโยชน์ให้กับท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสงครามเป็นทั้ง แหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงปากท้องประชาชนในท้องถิ่น และเป็นแหล่งเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็น นักเรียนควรจะศึกษาและอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืน ผู้รายงานจึงมีความมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เข้าใจ สำรวจสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสงครามที่มีความสัมพันธ์กันกับชุมชน อาชีพของชุมชน นักเรียนจะต้องรู้จัก สังเกต สำรวจ ตรวจสอบอภิปรายและอธิบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นผล ของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติและโดยมนุษย์ ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมปฏิบัติในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยใช้สภาพปัญหาของแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นมาเป็นส่วน หนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดความคงทน การเรียนรู้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนากระบวนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมใช้สถานการณ์กรณีปัญหาของแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่นสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
2. เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศในท้องถิ่นมีความตระหนักรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น , รู้จักหวงแหนทรัพยากร ใน ท้องถิ่นของตน และแนะนำผู้อื่นได้
3. ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนและความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียน
ขอบเขตการศึกษาค้นคว้า
1. ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2552
โรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์ สำนักงานพื้นที่การศึกษาสมุทรสงคราม จำนวน19 คน
2. เนื้อหาที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ประกอบไปด้วยเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาระการเรียนรู้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมหน่วยการเรียนรู้เรื่องแหล่งน้ำ
แนวคิด หลักการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา/พัฒนา
หลักการ/แนวคิดที่ประยุกต์ใช้แก้ปัญหา/พัฒนาในครั้งนี้ ผู้รายงานใช้ประเด็นปัญหา ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นมาบูรณาการการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสารสนเทศจัดทำเป็น แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนวิทยาศาสตร์ในสาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อมเรื่องแหล่งน้ำ และ ออกแบบการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้( Inquiry Training) ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน คือ
1.ให้นักเรียนได้เผชิญปัญหา ครูอธิบายกระบวนการสืบเสาะหาความรู้
2.นักเรียนรวบรวมข้อมูลโดยการตั้งคำถามด้วยตนเองอย่างมีระบบ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ เงื่อนไข และสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ซึ่งครูจะตอบเพียงใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น
3. นักเรียนรวบรวมข้อมูลเพื่อการทดลอง โดยมีการตั้งสมมติฐานและการทดลอง
4. นักเรียนสร้างหรืออธิบายสรุปสิ่งที่ค้นพบ
5. ครูและนักเรียนช่วยกันวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การสืบเสาะหาความรู้ และพัฒนายุทธศาสตร์นั้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นักเรียนจะต้องศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นจากสื่อวิดิทัศน์นนำมาอภิปรายร่วมกันสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมด้วยวิธีการ เสาะหา สำรวจ ตรวจสอบ และค้นคว้าด้วยวิธีการต่าง ๆ จนทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและเกิดการรับรู้ความรู้นั้นอย่างมีความหมายจึงจะสามารถนำมาสรุปสร้างเป็นองค์ความรู้ของตนเองได้และเก็บเป็นความรู้ความเข้าใจที่คงทน สามารถนำข้อมูลและเผยแพร่แลกเปลี่ยนกับเพื่อน ผ่าน Webblog และสามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังฝึกนักเรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมตระหนักรักและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีน้ำใจ ดูแลช่วยเหลือ เพื่อน มีการเสริมแรง
วิธีการดำเนินการ
เครื่องมือในการปฏิบัติ/การพัฒนา
แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อม เรื่องแหล่งน้ำ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 5 ชั่วโมง ออกแบบโดยใช้ทฤษฏีการเสริมสร้างความรู้ (constructivism) และออกแบบการเรียนรู้ใช้เทคนิคกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry process) บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีสารสนเทศ
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อน-หลัง เรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องแหล่งน้ำ แบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ
แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
วิธีดำเนินการและการเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้รายงานดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โดย ก่อนการจัดการเรียนรู้ นำแบบทดสอบประเมินนักเรียนก่อนเรียนรวบรวมเป็นคะแนนก่อนเรียน ดำเนินการสอนในภาคความรู้โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ ตามที่วางแผนไว้หลังจากที่จัดการเรียนการสอนให้ นักเรียน ทำแบบทดสอบ รวบรวมคะแนนไว้เป็นคะแนนหลังเรียน นำมาเปรียบเทียบความก้าวหน้าสอบถามความคิดเห็นในการเรียนของนักเรียนโดยการซักถามให้นักเรียนเขียน แผนผัง หรือเรียงความ
ผลการปฏิบัติ / การพัฒนา
1. ผลการพัฒนาคุณภาพทางการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระการเรียนรู้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม หน่วยการเรียนรู้ เรื่องแหล่งน้ำ ผู้รายงานมีความมุ่งหวังผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งน้ำ,การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในท้องถิ่น และได้ดำเนินการวัดผลการพัฒนาคุณภาพทางการเรียนด้านความรู้และทักษะวัดได้โดยใช้แบบทดสอบที่ผู้รายงานสร้างขึ้นและนำผลการวัดมาเปรียบเทียบความก้าวหน้าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน พบว่านักเรียนมีผลการพัฒนาการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาระชีวิตกับ สิ่งแวดล้อม เรื่องแหล่งน้ำ ผ่านเกณฑ์ที่น่าพอใจทุกคนโดยมีคะแนนรวม เฉลี่ย75.53 และคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนโดยมีดัชนีประสิทธิผลมากกว่าร้อยละ 25 ของคะแนนเต็ม และนักเรียนทุกคน ได้คะแนนเพิ่มขึ้น โดยมีคะแนนร้อยละความก้าวหน้าตั้งแต่ 25.00 ถึง 50.00 แสดงว่านักเรียนมีผลการพัฒนาคุณภาพทางการเรียนสูงขึ้น

2. ผลการพัฒนาผู้เรียนให้มีความตระหนักในตนเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น ,
รู้จักหวงแหนทรัพยากร ใน ท้องถิ่นของตน และแนะนำผู้อื่นได้
จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนศึกษาประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตนเองและการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ แล้วทำกิจกรรมต่าง ๆตามแผนการจัดการเรียนรู้ พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2มีผลการประเมินกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อม เรื่องแหล่งน้ำ พบว่า นักเรียนมีผลการพัฒนาจากการทำกิจกรรมให้มีความตระหนักในตนเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น , รู้จักหวงแหนทรัพยากร ใน ท้องถิ่นของตน โดยรวมคิดเป็นร้อยละ 79.05 นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนสามารถสรุปประเด็นปัญหาที่ได้การศึกษาวิดิทัศน์ การสืบค้นข้อมูลนำมาสร้างงานนำเสนอ/webblog เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนพร้อมทั้งการเขียนแผนผังความรู้





3. ผลการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการดำรงชีวิตสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิต
ประจำวันได้อย่าง เหมาะสมกับสภาพสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน
จากการสอบถามความคิดเห็นนักเรียน และสังเกตพฤติกรรมเพื่อประเมินผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีทักษะการดำรงชีวิตสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า นักเรียน มีความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อมเรื่องแหล่งน้ำ โดยภาพรวมมีความเห็นด้วยอยู่ใน ระดับมาก (µ = 4.495) และค่าความเบี่ยงมาตรฐาน (σ = 0.59) และจากการประเมินตามสภาพจริงสังเกตพฤติกรรมการทำงานของนักเรียนทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มพบว่า นักเรียนมีคุณลักษณะอัน พึงประสงค์ ในการเรียน อยู่ในระดับดีมาก มีความสนใจใฝ่รู้ ให้ความร่วมมือกันในการทำงาน มีสามัคคี และรับผิดชอบในการทำงานส่งผลให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และทำงานเสร็จตามเวลา
สรุปอภิปรายผล และข้อสังเกต
สรุปผลการศึกษา
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีคะแนนผลการพัฒนาคุณภาพทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อม เรื่องแหล่งน้ำ หลังเรียนเฉลี่ย75.53 เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ ทุกคน โดยมีความก้าวหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
2. ผลการพัฒนาคุณภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีความตระหนักในตนเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น , รู้จักหวงแหนทรัพยากร ใน ท้องถิ่นของตน และแนะนำผู้อื่นได้ พบว่าโดยรวมนักเรียนมีผลการประเมินกิจกรรมรวมคิดเป็นร้อยละ 79.05 โดยนักเรียนมีผลการประเมินเฉลี่ยด้านการสร้างงานนำเสนอ / webblog มากที่สุด รองลงมาได้แก่การสรุปผลการศึกษาวิดิทัศน์และการสืบค้นข้อมูล และการเขียนแผนผังความรู้
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 มีความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อมเรื่องแหล่งน้ำ โดย ภาพรวมมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก และข้อที่นักเรียนมีระดับความเห็นด้วยสูงเป็นลำดับแรกได้แก่ กระบวนการเรียนรู้และเนื้อหาในสื่อวิดิทัศน์และสื่อต่าง ๆ ที่ครูเตรียมมาช่วยให้นักเรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็นและนำเสนองานได้เป็นอย่างดีและการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนช่วยให้นักเรียนได้รู้ถึงการพัฒนาคุณภาพ ของตนเองรองลงมาได้แก่นักเรียนสามารถเรียนรู้และสรุปเนื้อหาบทเรียนเป็นแผนผังความคิดได้ด้วย ตนเองและ ข้อที่นักเรียนมีระดับความเห็นด้วยต่ำสุด คือนักเรียนสามารถสืบเสาะค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง

อภิปรายผล
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
จากผลการศึกษาพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีการพัฒนาคุณภาพทางการเรียน เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจทุกคน โดย มีความก้าวหน้าในการเรียน ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ทุกหน่วยการเรียนรู้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนักเรียนมีพัฒนาการทางสมองมากขึ้นมีความสามารถในการสืบค้นข้อมูลและมีการพัฒนาทักษะในการจำแนก อีกทั้งวัยของนักเรียนอยู่ในช่วงอายุ 10-13 ปี เป็นวัยที่นักเรียนบางคนมีระยะคิดอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่นักเรียนบางคนเริ่มที่จะ มีระยะคิดอย่างเป็นนามธรรม (Formal - operational stage) ซึ่งเป็นพัฒนาการช่วงสุดท้ายของเด็ก ตั้งแต่ ก่อนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงนี้เด็กสามารถคิดเป็นเหตุเป็นผลและคิดในสิ่งที่ซับซ้อนอย่างเป็นนามธรรมได้มากขึ้น เมื่อเด็กพัฒนาได้อย่างเต็มที่แล้ว จะสามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและแก้ปัญหาได้อย่างดี จนพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญา ของ Jean Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิส ( สสวท. 2546 : 217) ที่กล่าวถึงเด็กอายุ ตั้งแต่อายุ 7 ปี – 11 ปี จะเป็นระยะที่คิดอย่างเป็นรูปธรรม ( Concrete - operational stage) เด็กช่วงนี้จะมีพัฒนาการสมองมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถเรียนรู้ได้ และอายุประมาณ 12-15 ปีระยะคิดอย่างเป็นนามธรรม (Formal - operational stage) จำแนกสิ่งต่าง ๆที่เป็นรูปธรรมได้ แต่ยังไม่สามารถสร้างจินตนาการการรับรู้ที่เป็นนามธรรมได้ อีกทั้งกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ มีขั้นตอนต่างๆ ที่กระตุ้นให้นักเรียน ฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณในเกือบทุกขั้นตอน เช่น ในขั้นการเตรียมปัญหาก็ต้องร่วมกันอภิปรายเพื่อแยกแยะให้ได้ปัญหาที่แท้จริง ในขั้นรวบรวมข้อมูลก็ต้องใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณในการรวบรวมข้อมูล ส่วนในขั้นการตั้งสมมติฐานก็ต้องพิจารณานำข้อมูลที่มีอยู่มาเชื่อมโยงกันอย่างสมเหตุสมผลเพื่อนำไปสู่การสรุปซึ่งล้วนต้องใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณทั้งสิ้น สอดคล้องกับ คำกล่าวของ จอยซ์ และ เวล (Joyce & Weil, 1980 อ้างถึงในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2540) ที่กล่าวไว้สรุปได้ว่า รูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Model) เป็นรูปแบบที่นักเรียนจะมีโอกาสได้ฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยมีปัญหาและวิธีการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตามขั้นตอนเป็นตัวช่วย และยิ่งขั้นตอนการอภิปราย และ ออกความคิดเห็น จะยิ่งสามารถพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียน
2. ผลการพัฒนาคุณภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีความตระหนักในตนเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น
จากผลการศึกษาพบว่า ผลการพัฒนาผู้เรียนให้มีความตระหนักในตนเองรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น , รู้จักหวงแหนทรัพยากร ใน ท้องถิ่นของตน นักเรียนมีผลการประเมินกิจกรรมรวมคิดเป็น ร้อยละ 79.05 โดยนักเรียนมีผลการประเมินเฉลี่ยด้านการสร้างงานนำเสนอ/webblogมากที่สุด รองลงมาได้แก่การสรุปผลการศึกษาวิดิทัศน์และการสืบค้นข้อมูล และการเขียนแผนผังความรู้
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนผู้รายงานได้นำประเด็นที่เป็นปัญหาใกล้ตัวในท้องถิ่นของนักเรียนเอง มาเป็นส่วนประกอบในการนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อกระตุ้นความสนใจให้มีความตระหนักรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนให้กับนักเรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นและเรียนรู้ร่วมกันจากการสืบค้นข้อมูล เพื่อนำมาสร้างเป็นองค์ความรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้
(Inquiry Approach) เข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการเรียนรู้ซึ่งกระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้นั้น นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันได้มีการตัดสินใจ มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณและมีการอภิปรายร่วมกันซึ่งสามารถช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆให้กับนักเรียน สอดคล้องกับ Terry Roberts ( 2002 : 45-48 ) อ้างถึงใน พงษ์ศักดิ์ สังขภิณโญ. (online : 2550) กล่าวไว้สรุปได้ว่า การอภิปรายและการออกความคิดเห็นร่วมกัน ช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆทั้ง ทางสติปัญญา ความกล้าหาญ กระบวนการคิด และอารมณ์ของนักเรียน
3. ด้านความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อมเรื่องแหล่งน้ำจากผลการศึกษา พบว่านักเรียนมีความคิดเห็นที่ดีต่อการเรียนรู้
และการทำกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อม เรื่องแหล่งน้ำ ในระดับมาก โดยคิดว่ากระบวนการเรียนรู้และเนื้อหาในสื่อวิดิทัศน์และสื่อต่างๆ ที่ครูเตรียมมาช่วยให้นักเรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ เขียนสามารถแสดงความคิดเห็นและนำเสนองานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนช่วยให้นักเรียนได้รู้ ถึงการพัฒนาคุณภาพของตนเองนักเรียนสามารถเรียนรู้ และ สรุปเนื้อหาบทเรียนเป็นแผนผังความคิดได้ด้วยตนเอง และนักเรียนต้องมีความรับผิดชอบสูง จึงจะทำให้เรียนรู้ได้อย่างดี และถูกต้อง
นอกจากนี้จากการประเมินตามสภาพจริงสังเกตพฤติกรรมการทำงานของนักเรียนทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มพบว่า นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการเรียน อยู่ในระดับดีมาก มีความสนใจใฝ่รู้ ให้ความร่วมมือกันในการทำงาน มีสามัคคี และ รับผิดชอบในการทำงาน ส่งผลให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และทำงานเสร็จตามเวลา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในการวางแผนที่ดี มีจิตสำนึกรับผิดชอบในการเรียนประกอบกับนักเรียนได้รับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนมาอย่างดี อีกทั้งกระบวนการเรียนการสอนที่ผู้รายงานใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ช่วยสร้างนักเรียนให้มีความสามารถในการสืบค้นข้อมูล การสรุปความคิด ทำให้นักเรียนมีการพัฒนาความสามารถของตนเองได้เต็มศักยภาพ สอดคล้องแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 10พ.ศ. 2550-2554 (2550) ในแผนงานหลักที่ 2 ที่กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาขีดความสามารถของตนได้เต็มศักยภาพ และมีความสมดุล ทั้งด้านร่างกาย ปัญญา จิตใจ และสังคม เป็นผู้รู้จักคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุ มีความคิดรวบยอด รักการเรียนรู้ รู้วิธีการและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีเจตคติที่ดี มีวินัย มีความรับผิดชอบ และ มีทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาตน พัฒนาอาชีพ และดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขและ สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542) มาตรา 24 ระบุถึงกระบวนการเรียนรู้ที่สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ สรุปได้ว่า จะต้องจัดเนื้อหาสาระ และ กิจกรรมที่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นการฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็นและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องและในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของคนทุกคนจะต้องเกี่ยวข้องกับวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)อยู่ตลอดเวลา

ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะจากการศึกษา
1.1จากผลการศึกษาพบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ประเด็นปัญหาและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นใกล้ตัวนักเรียนโดยบูรณาการ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สามารถช่วยพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนมีการพัฒนาผลการเรียนด้านความรู้ ทักษะ พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนอีกทั้งนักเรียนยังมีความคิดเห็นที่ดีอย่างมากต่อ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อมเรื่องแหล่งน้ำ จึงเห็นสมควรที่ครูผู้สอนในสาระต่าง ๆ สามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียน
2. ข้อเสนอแนะเพื่อการทำศึกษาครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาเชิงเปรียบเทียบการจัดการเรียนการสอนกับรูปแบบการสอนอื่นๆ
2.2 กิจกรรมการเรียนการสอนในการสืบค้นข้อมูลโดยเฉพาะจากแหล่งเรียนรู้ ทางเทคโนโลยีนักเรียนต้องใช้ความรู้ความสามารถ ในการอ่านสรุปจับใจความสำคัญของเรื่อง และการบันทึกข้อมูลมาก ดังนั้นนักเรียนควรมีพื้นฐานความรู้ด้านภาษาไทยด้วยจะดีมาก


บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. กรมวิชาการ. การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย. พิมพ์ ครั้งที่ 2 .
กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท.,2544.
---------- กรมวิชาการ. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2545.
กาญจนา วัฒนายุ. การวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน. กรุงเทพมหานคร : 2544.
โรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์. รายงานคุณภาพการศึกษาประจำปีการศึกษา 2551.
(เอกสารอัดสำเนา)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. พระราชบัญญัติการศึกษา
แห่งชาติพ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545. กรุงเทพมหานคร : บริษัท
พริกหวานกราฟฟิก จำกัด, ม.ป.ป.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. คู่มือครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2546.


เว็บไซค์
พงษ์ศักดิ์ สังขภิณโญ. (Online)”
Available : http://www.rmutphysics.com/charud/specialnews/6/science/ unit4_1.html
เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฏาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น: